[Coronavirus] – การระบาดของโคโรนาไวรัสกับกฎหมายระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก

อย่างที่ทราบกันดีว่า หลังจากการรายงานครั้งแรกของการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส (coronavirus หรือ 2019-nCoV) ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2019 การระบาดของโคโรนาไวรัสได้เริ่มขยายวงกว้างไปในหลายประเทศ และเริ่มมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงตลอดเดือนมกราคม 2020 ที่ผ่านมา เราจะได้เห็นบทบาทของหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดการเกี่ยวกับปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงบทบาทที่สำคัญขององค์การระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) อีกด้วย ซึ่งล่าสุดนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก และทีมงาน ได้เดินทางไปหารือกับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขของจีน จนในที่สุด เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2020 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศแล้ว

แต่ทราบหรือไม่ว่า การที่ผู้แทนระดับสูงขององค์การอนามัยโลกจะเดินทางเข้าไปยังประเทศจีนเพื่อหารือ และดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ว่า อยู่ ๆ ก็สถาปนาตนเองและสามารถดำเนินการทำทุกอย่างได้ ในความเป็นจริงแล้ว มีประเด็นความร่วมมือและกฎหมายระหว่างประเทศอยู่เบื้องหลังอยู่พอสมควร ดังนั้น วันนี้ แอดมินขอพาทุกคนทำความรู้จักกับองค์กรนี้ และประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศที่น่าสนใจกันดีกว่าครับ

 

1. องค์การอนามัยโลกคืออะไร

องค์การอนามัยโลกมีสถานะเป็นทบวงการชำนัญพิเศษ (specialized agency) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อดูแลในประเด็นเรื่องการอนามัยระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 1948 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ [1]

งานหลักขององค์การอนามัยโลกนั้นคือการประสานงานการสาธารณสุขระหว่างประเทศภายในระบบขององค์การสหประชาชาติ โดยมีขอบเขตการทำงานที่เกี่ยวข้องกับอนามัยต่าง ๆ โรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ การเตรียมการ การสอดส่องดูแล และการบริการความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อทำให้มั่นใจว่า

  • ประชากรมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage) โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพที่สำคัญ พัฒนาการเข้าถึงยาสำคัญและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อบรมแรงงานด้านสุขภาพและให้คำปรึกษา สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในนโยบายสุขภาพแห่งรัฐ และพัฒนาการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ตลอดจน
  • สามารถเตรียมการเพื่อรับมือภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ (health emergencies) ป้องกันภาวะฉุกเฉินและสนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือที่จำเป็นในกรณีเกิดโรคระบาด และสนับสนุนการจัดส่งการบริการสุขภาพที่สำคัญ
  • มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีสุขภาพที่ดี (health and well-being) [2]

ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกมีบทบาทในการรับมือต่อภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ หลายเหตุการณ์ เช่น การระบาดของไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease) ในแอฟริกากลางในช่วงปี 2014-2016 ไข้หวัดนก (Avian influenza A (H7N9) ในจีนในช่วงปี 2013 โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (MERS-CoV) ในซาอุดิอาระเบียในปี 2012 โรคไข้หวัดใหญ่ (Pandemic (H1N1)) ที่เม็กซิโกในช่วงปี 2009 และไข้หวัดนก (Avian influenza (H5N1) ในฮ่องกงในช่วงปี 1997

 

2. การทำงานขององค์การอนามัยโลกกับไวรัสโคโรนา 2019-nCoV

  • 31 ธันวาคม 2019: WHO ได้รับรายงานว่ามีการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และรับทราบรายงานการขยายวงกว้างของการระบาดของไวรัสโคโรนาเรื่อย ๆ จนออกนอกประเทศจีนและเริ่มมีผู้เสียชีวิต [3]
  • 28 มกราคม 2020: มีรายงานจากองค์การอนามัยโลกว่า นายโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก พร้อมทีมงาน ได้เดินทางเข้าพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของประเทศจีนที่กรุงปักกิ่งเพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัส โดยตกลงร่วมกันว่า องค์การอนามัยโลกจะส่งผู้เชี่ยวชาญมายังจีนให้เร็วที่สุดเพื่อทำงานร่วมกับจีนในการต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโคโรนา ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังคงติดตามการระบาดของเชื้อไวรัสและผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลกจะเปิดประชุมคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations 2005) โดยเร็วที่สุด [4]
  • 29 มกราคม 2020: คณะกรรมการฉุกเฉินฯ จะจัดให้มีการประชุมในวันที่ 30 มกราคม 2020 เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้อำนวยการใหญ่ว่าจะประกาศให้การระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) หรือไม่ [5]
  • 30 มกราคม 2020: ตามแถลงการณ์ของการประชุมครั้งที่ 2 ของคณะกรรมการฉุกเฉินฯ ระบุว่า คณะกรรมการฉุกเฉินฯ มีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจสุดท้ายในการกำหนดภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (ซึ่งการกำหนดดังกล่าว จะส่งผลให้ถือว่าภาวะดังกล่าวเป็นเหตการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อประเทศต่าง ๆ ในการระบาดข้ามประเทศ และต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการรับมือต่อเหตุการณ์เช่นว่านั้น) ในที่ประชุมกล่าวว่า ในการประชุมครั้งแรกสถานการณ์การระบาดยังไม่รุนแรงที่จะจัดเป็นภาวะฉุกเฉินฯ แต่จากการขยายตัวของการระบาดนับจนถึงวันที่ 30 มกราคม 2020 แล้วนั้น เห็นว่า เข้าเกณฑ์ภาวะฉุกเฉินฯ แล้วที่ต่างชาติควรจะให้ความร่วมมือกันทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำจำนวนมาก และไม่ได้จำกัดการเดินทางหรือการค้า (หากใครสนใจฉบับเต็ม (ภาษาไทย) ไปดูได้ที่ https://thaipublica.org/2020/01/who-international-health-emergency-corona-virus-outbreak-2020/) [6]
  • ทั้งนี้ ในคำแนะนำดังกล่าวขององค์การอนามัยโลกยังมีข้อกำหนดขอให้ยอมรับข้อแนะนำของคณะกรรมการฉุกเฉินฯ โดยอ้างฐานจาก “กฎอนามัยระหว่างประเทศ” โดยเฉพาะข้อ 43 และข้อ 44 อีกด้วย (จะอธิบายอีกครั้งด้านล่าง) และจะมีการเรียกประชุมอีกครั้งภายใน 3 เดือนหรือเร็วกว่านั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้อำนวยการใหญ่ฯ

 

3. กฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations) คืออะไร

กฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations) เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศของประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและควบคุมโรคที่มีผลกระทบต่อการเดินทางและการค้าขายระหว่างประเทศ โดยนำมาจากข้อมติขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับมาตรการด้านสุขอนามัยและการควบคุมโรคติดเชื้อระหว่างประเทศในชื่อ International Sanitary Regulations จากการประชุมสุขอนามัยและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระหว่างประเทศที่กรุงปารีสในปี 1851 เนื่องจากขณะนั้นมีการแพร่ระดับของอหิวาตกโรคในยุโรป หลังจากนั้น องค์การอนามัยโลกได้ปรับปรุงกฎดังกล่าวและรับรองกฎเกณฑ์ใหม่ภายใต้ชื่อกฎอนามัยระหว่างประเทศในปี 1969 และใช้เรื่อยมา แต่อย่างไรก็ดี กฎอนามัยระหว่างประเทศฉบับปี 1969 มีปัญหาเกี่ยวกับความไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านสาธารณสุขใหม่ ๆ และหลายประเทศยังนำไปใช้เพื่อเป็นข้อกีดกันทางการค้าและมีการใช้มาตรการที่รุนแรง เช่น การกักตัว การห้ามเข้าประเทศ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ จึงมีการจัดทำกฎอนามัยระหว่างประเทศฉบับใหม่ขึ้นมาในปี 2005 โดยมีการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2005 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2007 กับรัฐสมาชิกทั่วกัน [7]

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2005 นั้น คือเพื่อป้องกัน คุ้มครอง และควบคุมให้มีการดำเนินงานด้านการสาธารณสุขต่อการระบาดของโรคได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ และจำกัดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของโรคระบาดอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีโรคที่อาจเกิดจากภัยสุขภาพและการเดินทางข้ามประเทศ ทั้งนี้ การควบคุมดังกล่าวจะต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและอธิปไตยของแต่ละประเทศ

  • การพิจารณาภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

ในส่วนของการพิจารณาภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศซึ่งคณะกรรมการฉุกเฉินฯ ประกาศเมื่อวันที่ 30 มกราคมนั้น ก็ไม่ได้พูดขึ้นลอย ๆ แต่เป็นไปตามข้อ 12 ของกฎอนามัยระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดโดยสรุปว่า เป็นเหตุการณ์ด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศอื่น ๆ และต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ในการรับมือต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยผู้อำนวยการใหญ่ฯ จะต้องพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

(1) ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากประเทศสมาชิก

(2) เครื่องมือตัดสินใจตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวกที่ 2 เช่น หากมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงข้ามประเทศและกระทบต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ต้องมีการแจ้งต่อองค์การอนามัยโลก แต่ถ้าไม่มีความเสี่ยงก็ไม่ต้องแจ้ง แต่ให้มีการประเมินข้อมูลอย่างเพียงพอเท่านั้น

(3) คำแนะนำจากคณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน

(4) หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และข่าวสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

(5) การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาวะของคน ต่อการระบาดของโรคระหว่างประเทศ และต่อการรบกวนการจราจรระหว่างประเทศ

  • คณะกรรมการภาวะฉุกเฉินคือใคร

คณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน (emergency committee) เป็นคณะกรรมการภายใต้ข้อ 48 ของกฎอนามัยระหว่างประเทศ โดยผู้อำนวยการใหญ่ฯ จะจัดให้มีคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินในกรณีที่ต้องการให้ความเห็นในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการประเมินสถานการณ์ว่าเป็นสถานการณ์ที่ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศหรือไม่ การยกเลิกภาวะฉุกเฉิน และให้คำแนะนำ เปลี่ยนแปลง เนื้อหาของคำแนะนำชั่วคราวต่าง ๆ

ทั้งนี้ คณะกรรมการภาวะฉุกเฉินประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญซึ่งเลือกจากบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญกฎอนามัย และอาจเลือกจากคณะกรรมการที่ปรึกษาคณะอื่น ๆ ตามความเหมาะสมกับเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ในคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินควรมีตัวแทนอย่างน้อย 1 คนจากประเทศที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นด้วย

  • ข้อแนะนำของคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินตามข้อ 43 และ 44 ของกฎอนามัยระหว่างประเทศ

ในข้อแนะนำของคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินตามตามแถลงการณ์ของการประชุมครั้งที่ 2 (ใครสนใจอ่านรายงานฉบับแปลภาษาไทย สามารถไปอ่านได้ที่ https://thaipublica.org/2020/01/who-international-health-emergency-corona-virus-outbreak-2020/) [8] มีการอ้างถึงข้อ 43 และข้อ 44 ของกฎอนามัยระหว่างประเทศอยู่ด้วย ดังนั้น ลองมาพิจารณากันว่า มีเนื้อหากล่าวถึงอะไรบ้าง

สำหรับข้อ 43 ของกฎอนามัยระหว่างประเทศนั้น กำหนดว่า ประเทศสมาชิกที่ใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขเพิ่มเติม (additional health measures) ซึ่งเป็นการแทรกแซงการเดินทางระหว่างประเทศ เช่น การปฏิเสธการให้เข้าประเทศ หรือออกนอกประเทศ รวมถึงต่อกระเป๋า สินค้าต่าง ๆ หรือก่อให้เกิดความล่าช้ามากกว่า 24 ชั่วโมง จะต้องมีการแจ้งต่อองค์การอนามัยโลกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวภายใน 48 ชั่วโมง และองค์การอนามัยโลกอาจพิจารณาเหตุผล ตลอดจนขอให้มีการทบทวนการใช้มาตรการดังกล่าวได้ด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า ข้อ 43 ของกฎอนามัยระหว่างประเทศนั้นมีขึ้นเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง การกีดกันทางการค้า ตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย ซึ่งมีลักษณะเป็นข้อบทเชิงป้องกันและปกป้องสิทธิของคนชาติในประเทศสมาชิก

ในส่วนของข้อ 44 ของกฎอนามัยระหว่างประเทศ เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการร่วมมือกันของประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ในการช่วยเหลือเพื่อหาสาเหตุและที่มาของเชื้อโรค เพื่อเตรียมรับมือต่อการระบาดเพิ่มเติมและการติดต่อระหว่างคนสู่คนด้วย จะเห็นได้ว่าข้อ 44 นี้เป็นข้อที่กำหนดขึ้นในเชิงบวกเพื่อสร้างความร่วมมือกันในประชาคมระหว่างประเทศ

 

4. การจัดการขององค์การอนามัยโลกสำหรับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก

เนื่องจากการทำงานขององค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎอนามัยระหว่างประเทศ จะสามารถใช้กับประเทศสมาชิกของกฎอนามัยระหว่างประเทศจำนวน 196 ประเทศ และประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกซึ่งมีจำนวน 194 ประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้ครอบคลุมทั้งโลก โดยเฉพาะเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในครั้งนี้ มีการระบาดไปถึงในพื้นที่ของไต้หวันซึ่งไม่ใช่สมาชิกของกฎอนามัยระหว่างประเทศหรือสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ดังนั้น การทำงานขององค์การอนามัยโลกจะทำอย่างไร

ตามข้อมูลนั้น ไต้หวันยืนยันข้อมูลว่ามีการระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2020 แต่อย่างไรก็ดี ไต้หวันไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมประจำปีของสมัชชาองค์การอนามัยโลกตั้งแต่ปี 2016 ทั้ง ๆ ที่ในช่วงปี 2009 ถึง 2016 ไต้หวันสามารถเข้าร่วมการประชุมสมัชชนองค์การอนามัยโลกได้ในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงได้ แต่ภายหลังจากที่นางไซ่ อิงเหวิน (Tsai Inh-wen) ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีไต้หวัน จีนก็ได้อ้างข้อมติขององค์การสหประชาชาติปี 1971 ในการรับรองว่าจีนเป็นผู้แทนที่ชอบด้วยกฎหมายของไต้หวันเพียงหนึ่งเดียว ดังนั้น การดำเนินการต่าง ๆ ในองค์กรระหว่างประเทศของไต้หวันจึงดำเนินการผ่านจีน [10]

ดังนั้น ในการรับมือการระบาดของไวรัสโคโรนา ไต้หวันจึงได้รับข้อมูลต่าง ๆ ผ่านองค์กรควบคุมโรคติดต่อของจีน [9] หรือจากที่อื่นที่อาจไม่เป็นทางการ โดยไม่มีกระบวนการที่เป็นทางการยืนยันได้ว่า ไต้หวันจะได้รับข้อมูลภายในเวลาที่ทันท่วงที

จากประสบการณ์ในอดีตในการรับมือเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสซึ่งไต้หวันได้รับผลกระทบด้วย เช่น โรคซาร์ส (SARS) ในปี 2003 ไต้หวันมีบทบาทในการบริหารจัดการที่ดี ไม่ได้เป็นผู้รับข้อมูลต่อ ๆ มาอีกทีหนึ่ง [11] ดังนั้น ไต้หวันจึงควรได้เข้าร่วมการประชุมเตรียมการและวางแผนขององค์การอนามัยโลก นางไซ่ อิงเหวิน กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2020 ที่ผ่านมาว่า องค์การอนามัยโลกไม่ควรไม่ให้ไต้หวันมีส่วนร่วมด้วยเหตุผลทางการเมือง [12]

ทั้งนี้ สำหรับเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนา นายไมค์ ไรอัน (Mike Ryan) ผู้อำนวยการบริหารของโครงการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกกล่าวต่อสื่อในการประชุมเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2020 ว่า เขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ในไต้หวันทำงานใกล้ชิดกับจีนแผนดินใหญ่และเชื่อว่ามีการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ระบาดแล้ว [13]

ดังนั้น ต้องติดตามสถานการณ์ต่อว่า จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครับ

 

อ้างอิง

[1] World Health Organization, ‘About WHO’ <https://www.who.int/about&gt; accessed 31 January 2020.

[2] World Health Organization, ‘What we do’ <https://www.who.int/about/what-we-do&gt; accessed 31 January 2020.

[3] World Health Organization, ‘Novel coronavirus (2019-nCoV)’ <https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019&gt; accessed 31 January 2020.

[4] World Health Organization, ‘WHO, China leaders discuss next steps in battle against coronavirus outbreak’ New release (28 January 2020) <https://www.who.int/news-room/detail/28-01-2020-who-china-leaders-discuss-next-steps-in-battle-against-coronavirus-outbreak&gt; accessed 31 January 2020.

[5] World Health Organization, ‘International Health Regulations Emergency Committee on novel coronavirus in China’ New release (29 January 2020) <https://www.who.int/news-room/events/detail/2020/01/30/default-calendar/international-health-regulations-emergency-committee-on-novel-coronavirus-in-china&gt; accessed 31 January 2020.

[6] World Health Organization, ‘Statement on the second meeting of the International Health Regulations (2005) Emergency Committee regarding the outbreak of novel coronavirus (2019-nCoV)’ New release (30 January 2020) <https://www.who.int/news-room/detail/30-01-2020-statement-on-the-second-meeting-of-the-international-health-regulations-(2005)-emergency-committee-regarding-the-outbreak-of-novel-coronavirus-(2019-ncov)&gt; accessed 31 January 2020.

[7] สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, “กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548” เอกสารวิชาการ Academic Focus ฉบับเดือนมิถุนายน 2559, หน้า 1-2.

[8] World Health Organization (n 6).

[9] Jonathan Cheng and Chum Han Wong, ‘As Virus Spreads, Isolated Taiwan Risks Being a Loophole in War on Epidemics’, WSJ (22 January 2020) <https://www.wsj.com/articles/taiwan-virus-case-highlights-chinese-efforts-to-exclude-taipei-from-world-health-organization-11579634031&gt; accessed 1 February 2020.

[10] Taiwan Centers for Disease Control, ‘Two experts from Taiwan visit Wuhan to understand and obtain information on severe special infectious pneumonia outbreak; Taiwan CDC raises travel notice level for Wuhan to Level 2’ Press release (20 January 2020) <https://www.cdc.gov.tw/En/Bulletin/Detail/jFGUVrlLkIuHmzZeyAihHQ?typeid=158&mod=article_inline&gt; accessed 1 February 2020.

[11] Natasha Kassam, ‘As Wuhan Virus Spreads, Taiwan Has No Say at WHO’, Foreign Policy (22 January 2020) <https://foreignpolicy.com/2020/01/22/china-health-coronavirus-wuhan-virus-spreads-taiwan-no-say-who/&gt; accessed 1 February 2020.

[12] Tsai Inh-wen, ‘Press Conference on 22 January 2020’, <https://www.facebook.com/tsaiingwen/photos/a.390960786064/10156392141421065&gt; accessed 1 February 2020.

[13] Ben Blanchard, ‘Parties unite over Taiwan’s exclusion from WHO anti-virus planning’, Reuters (24 January 2020) <https://www.reuters.com/article/us-china-health-taiwan/parties-unite-over-taiwans-exclusion-from-who-anti-virus-planning-idUSKBN1ZN0QG&gt; accessed 1 February 2020.

 

#coronavirus #2019 #China #Wuhan #WHO #internationalhealthregulations #ไวรัสโคโรนา #จีน #อู่ฮั่น #องค์การอนามัยโลก #กฎอนามัยระหว่างประเทศ

 

Pic credit: WHO, Reuters, SocialNews.xyz

One thought on “[Coronavirus] – การระบาดของโคโรนาไวรัสกับกฎหมายระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก

  1. Pingback: [ประเด็นน่าสนใจ] – ศาลโลกจะรับฟ้อง ‘จีน’ จากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้หรือไม่ – Thanapat (Bank) Chatina

Leave a comment