[COVID-19] – การประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยเชื้อไวรัส COVID-19

วันนี้ (14 เมษายน 2020) มีการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยเชื้อไวรัส COVID-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายเหวียน ชวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามและประธานอาเซียนเป็นประธานในการประชุม มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประชุมและเนื้อหาของการประชุมพอสรุปได้ดังนี้

1. การประชุมสุดยอดอาเซียนคืออะไร

โดยปกติแล้ว หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) มาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นการประชุมประจำปี จัดขึ้นเป็นประจำโดยสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการหารือกันภายใต้หัวข้อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่าง ๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมและความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิก สำหรับประเทศสมาชิกของอาเซียน ประกอบด้วยบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

อย่างไรก็ดี หลายครั้ง ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการประชุมร่วมกับประเทศคู่เจรจา (ASEAN Dialogue Partners) เช่น กลุ่ม ASEAN+3 โดยเพิ่มเติมจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก ด้านการเมืองและความมั่นคง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน พลังงาน สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ) กลุ่ม ASEAN+6 โดยรวมกลุ่ม ASEAN+3 และเพิ่มเติมนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และอินเดีย (เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มในการลงทุน และอื่น ๆ) รวมถึงการประชุม ASEAN+CER ซึ่งรวมถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

โดยหลักแล้ว ตามกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) การประชุมสุดยอดอาเซียนจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดประชุมที่บาหลี อินโดนีเซียในปี 1976 และจัดเรื่อยมาถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีการจัดประชุมวาระพิเศษ (special or ad hoc meeting) ได้หากมีความจำเป็น โดยให้ประธานอาเซียนในปีนั้นเป็นผู้กำหนด

โดยเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2020 เป็นครั้งแรกที่มีการจัดให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนวาระพิเศษ และการประชุม ASEAN+3 โดยเป็นการจัดประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ในประเด็นเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19

2. ข้อสรุปจากการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยเชื้อไวรัส COVID-19

ที่ประชุมอาเซียนมีข้อสรุปหลายประเด็น โดยหลักคือ มีการจัดให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกลในวันที่ 14 เมษายน 2020 โดยมีนายเหวียน ชวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามและประธานอาเซียนเป็นประธานในการประชุม และที่ประชุมอาเซียนให้ความสำคัญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เป็นโรคระบาดแล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2020 และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของโลก ที่ประชุมฯ มีการดำเนินการเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมีข้อสรุปดังนี้

  • สร้างความเข้มแข็งให้กับวิธีการเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการสาธารณสุขเพื่อควบคุมโรคระบาดและปกป้องชีวิต รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเปิดเผยและด้วยเวลาที่เหมาะสม แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาและวิจัย การรักษา และการพัฒนาวัคซีนรวมถึงยาต้านไวรัส เพื่อสร้างระบบการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพในประเทศอาเซียน ผ่าน ASEAN Center of Military Medicine, the Network of ASEAN Chemical และ Biological and Radiological Defence Experts
  • ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในอาเซียนเพื่อต่อสู้กับไวรัส COVID-19 และจัดให้มีความร่วมมือที่เหมาะสมและเยียวยาประชาชนในอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด
  • เสริมสร้างการสื่อสารสาธารณะที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ ที่ทันท่วงทีในประเด็นเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล ข้อมูลด้านความปลอดภัยและการสาธารณสุข ให้ชัดเจน และปราศจากข้อมูลที่ผิดพลาด
  • ย้ำการดำเนินงานด้านนโยบายในการทุเลาผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐกิจจากโรคระบาด ปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
  • ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ และดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และภัยพิบัติทางด้านการสาธารณสุขในอนาคต โดยเริ่มบทบาทเชิงรุกของคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council) ร่วมกับการทำงานของคณะทำงานด้านภัยพิบัติทางด้านการสาธารณสุข และหน่วยงานอื่น ๆ ภายใต้ ASEAN
  • ให้รัฐมนตรีทางเศรษฐกิจและเจ้าหน้าที่อาวุโสทางเศรษฐกิจของอาเซียน รักษาไว้ซึ่งการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะในด้านการค้าให้มีความไหลลื่นต่อเนื่องในด้านสินค้า รวมถึง ยา อาหาร และของใช้ที่จำเป็น เพื่อทำให้มั่นใจว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านการค้า และการค้าทางอากาศ ทางบก และทางทะเล ยังคงเป็นไปตามปกติ และหลีกเลี่ยงการสร้างอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement) และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และ
  • สนับสนุนการจัดระบบกองทุนที่มีอยู่ และให้การสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิคจากประเทศคู่เจรจาของอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงการจัดให้มีกองทุนต้านภัย COVID-19 อีกด้วย

สำหรับใครที่อยากอ่านฉบับเต็ม สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://asean.org/storage/2020/04/FINAL-Declaration-of-the-Special-ASEAN-Summit-on-COVID-19.pdf

#ASEAN #Summit #Special #COVID19 #อาเซียน #การประชุมสุดยอดอาเซียน #สมัยพิเศษ #โควิด19

Pic credit: ASEAN และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

Leave a comment