[ประเด็นน่าสนใจ] – Trump ประกาศจะถอนตัวจาก WHO?

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัล ทรัมป์ ได้ประกาศในแถลงการณ์ที่ทำเนียบขาวว่า จะถอนตัวออกจากความตกลงขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยเขากล่าวว่า จะยุติความสัมพันธ์กับ WHO พร้อมทั้งนำงบประมาณดังกล่าวไปจัดสรรให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยไม่ผ่าน WHO อีกต่อไป เมื่อข่าวนี้ประกาศออกมาในรูปของแถลงการณ์ รวมทั้งผ่านทางช่องทางโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์จึงเกิดคำถามตามมาอีกมากมายว่า ทรัมป์มีอำนาจทำได้หรือไม่? และการจะถอนตัวจากความตกลงระหว่างประเทศทำได้ง่าย ๆ โดยการพูดผ่านสื่อเท่านี้เองจริงหรือ? วันนี้เราจะมาอธิบายกันว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร และหากต้องการจะถอนตัวออกจาก WHO สหรัฐฯ จะต้องดำเนินการอย่างไร

แอดมินพยายามติดตามข้อมูลหลายช่องทางเกี่ยวกับประเด็นข้างต้น จนไปเจอบทความฉบับหนึ่งเขียนไว้น่าสนใจมาก เป็นบทความเกี่ยวกับการถอนตัวของสหรัฐฯ จาก WHO โดยศาสตราจารย์ Harold Hongju Koh จากมหาวิทยาลัยเยลเขียนไว้น่าสนใจมาก จึงจะนำบทวิเคราะห์บางส่วนมาลงในโพสนี้ ใครที่สนใจบทความฉบับเต็มสามารถไปอ่านได้ที่ https://www.justsecurity.org/70493/trumps-empty-withdrawal-from-the-world-health-organization/

1. ความเป็นมาของเรื่อง

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้มีการแถลงการณ์ที่ทำเนียบขาวว่าจะยุติความสัมพันธ์กับ WHO รวมทั้ง tweet ข้อความผ่านช่องทางส่วนตัวของเขาด้วย นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาได้แจ้งหนังสือถึงนาย Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการ WHO กล่าวหาว่า WHO ให้การสนับสนุนจีน และยังเรียกร้องให้ WHO ปรับปรุงและพัฒนาภายใน 30 วัน จึงเป็นเหตุการณ์ไปสู่การที่ทรัมป์ประกาศว่าจะยุติการสนับสนุนและพิจารณาว่าจะถอนตัวออกจาก WHO

2. การกระทำของประธานาธิบดีทรัมป์ถือเป็นการแสดงเจตนาถอนตัวออกจากความตกลง WHO แล้วหรือยัง? และหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรัฐสภาสหรัฐฯ หรือหน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วย พวกเขาจะสามารถคัดค้านได้หรือไม่

ตามความเห็นในบทความของศาสตราจารย์ Koh ได้กล่าวว่า ไม่เป็นการแสดงเจตนาเช่นว่านั้น การที่ทรัมป์ได้มีการส่งจดหมาย ทวิตข้อความผ่านช่องทางส่วนตัว รวมถึงประกาศและแถลงการณ์ต่าง ๆ นั้น ยังไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมาย รวมถึงจดหมายขู่ไปยัง WHO เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมเช่นกัน แม้ว่าทรัมป์จะมีเจตนาที่จะระงับการสนับสนุนของสหรัฐฯ ใน WHO และกล่าวว่า หาก WHO ไม่ดำเนินการพัฒนาใด ๆ ภายใน 30 วัน (วันที่ 18 มิถุนายน) เขาจะระงับงบประมาณของสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุน WHO เป็นการชั่วคราว รวมถึงการพิจารณาว่าจะถอนตัวจากสมาชิกของ WHO ก็ตาม เนื่องจากในความเป็นจริงนั้น การจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของ WHO ของสหรัฐฯ ไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ เช่นนั้น

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1948 ซึ่งสหรัฐฯ เข้าเป็นสมาชิกในธรรมนูญก่อตั้ง WHO ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกถึง 193 ประเทศ ในขณะที่ตกลงเข้าร่วมสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว สหรัฐฯ ได้ยอมรับธรรมนูญฯ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของข้อบทในธรรมนูญฯ ฉบับดังกล่าว รวมถึงสอดคล้องกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฯ ของสหรัฐฯ เช่นกัน ดังนั้น หากสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากความตกลงดังกล่าว แม้ว่าธรรมนูญฯ ของ WHO จะไม่ได้ระบุข้อบทเกี่ยวกับการถอนตัวของสมาชิกไว้อย่างชัดแจ้ง แต่รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านข้อมติร่วม (joint resolution) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 1948 โดยกำหนดให้ประธานาธิบดีต้องยอมรับการเป็นสมาชิกของ WHO และจะต้องไม่ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของ WHO เว้นแต่เข้าเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ (1) จะต้องมีการแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี และ (2) จะต้องมีการจ่ายเงินแก่ WHO เต็มในรอบปีงบประมาณปัจจุบันด้วย ซึ่งข้อมติร่วมฉบับนี้ ได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์โดย WHO ด้วยเช่นกันเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1948

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว ดูเหมือนว่า ทรัมป์จะยังไม่ได้มีการแจ้งอย่างเป็นทางการต่อ WHO ในการถอนตัวออกจากความตกลง WHO และยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้ข้อมติร่วมฉบับดังกล่าว สหรัฐฯ ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายเงินสนับสนุนกับ WHO เต็มในรอบปีงบประมาณปัจจุบัน และสหรัฐฯ ก็จะไม่สามารถถอนตัวออกจาก WHO ได้อีกอย่างน้อย ๆ 1 ปีหลังจากที่ทรัมป์จะส่งจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการว่าจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก WHO ซึ่งในขณะนั้น ก็ไม่แน่ว่า ทรัมป์จะยังคงเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อยู่หรือไม่

3. การที่ทรัมป์ประกาศว่า “จะถอนตัว” มีผลอย่างไร

ศาสตราจารย์ Koh กล่าวว่า ก็อาจไม่ได้มีผลเท่าใดนัก อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าขั้นตอนในการถอนตัวออกจาก WHO ใช้เวลาอย่างต่ำ ๆ น่าจะเป็นปี ซึ่งในขณะนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่อาจเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของทรัมป์ก็ได้ ซึ่งระยะเวลานั้นก็คงยังไม่ถึง 1 ปีเช่นกัน แต่ในกรณีที่สมมติว่าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยหนึ่ง สหรัฐฯ ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสนับสนุนแก่ WHO ต่อในปีนั้น เพื่อให้บรรลุเงื่อนไขภายใต้ข้อมติร่วมของรัฐภาสหรัฐฯ กับ WHO ในปี 1948 ซึ่งในปีงบประมาณปัจจุบันนั้น สหรัฐฯได้จ่ายไปแล้วครึ่งหนึ่ง (ประมาณ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือแม้แต่สหรัฐฯ ได้บรรลุทั้ง 2 เงื่อนไข คือ การที่แจ้งล่วงหน้า 1 ปี และจ่ายงบประมาณสนบสนุนครบแล้ว รัฐสภาสหรัฐฯ ก็อาจจะกำหนดข้อกำหนดเพิ่มเติม เช่น การขยายระยะเวลาในการถอนตัวออกไปอีก 2 ปี หรือว่ากำหนดเพิ่มเติมว่า การถอนตัวจะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐสภาสหรัฐฯ ก่อน ซึ่งก็ดูเหมือนว่า การจะถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจาก WHO โดยทรัมป์นั้นอาจจะทำได้อย่างไม่ง่ายนัก

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจอ่านรายละเอียดบทความเกี่ยวกับการถอนตัวของสหรัฐฯ ในมุมมองทั้งกฎหมายภายในและคดีต่าง ๆ ภายในสหรัฐฯ ที่น่าสนใจ รวมถึงประเด็นการเมืองภายใน สามารถอ่านเพิ่มได้ในบทความฉบับเต็มที่ https://www.justsecurity.org/70493/trumps-empty-withdrawal-from-the-world-health-organization/

#Trump #withdrawal #WHO #Constitution #COVID19 #ทรัมป์ #การถอนตัว #องค์การอนามัยโลก #ธรรมนูญ #โควิด19

Trmup withdrawal from WHO

One thought on “[ประเด็นน่าสนใจ] – Trump ประกาศจะถอนตัวจาก WHO?

  1. Pingback: [ประเด็นน่าสนใจ] – Trump ประกาศถอนตัวออกจาก WHO อย่างเป็นทางการ – Thanapat (Bank) Chatinakrob

Leave a comment