[US/Iran Conflict EP.3] – การกักตัวทูตสหราชอาณาจักรประจำอิหร่านกับประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศ

ภายหลังจากถ้อยแถลงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2020 ซึ่งดูเหมือนจะลดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านลงไป หากใครไม่ได้อ่านตั้งแต่เริ่มต้นความขัดแย้ง สามารถไปอ่านย้อนหลังได้ที่

  • EP.1 สหรัฐสังหารผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านกับประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ https://thanapatofficial.wordpress.com/2020/01/03/us-kills-soleimani/ และ
  • EP.2 ถอดประเด็นข้อกฎหมายระหว่างประเทศจากถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาหลังจากอิหร่านยิงขีปนาวุธโต้ตอบเหตุการณ์สังหารผู้บัญชาหน่วยรบพิเศษคุดส์ กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน ที่ https://thanapatofficial.wordpress.com/2020/01/08/trump-remarks-on-iran/

จากนั้น ในช่วงเช้าของวันที่ 11 มกราคม 2020 ทางการของอิหร่านได้ออกมาประกาศยอมรับว่าเป็นผู้ยิงเครื่องบินโดยสารของยูเครนตกโดยไม่เจตนา ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 176 คน เนื่องมาจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ (human error) [1] หลังจากนั้นไม่นาน ได้เกิดการรวมตัวกันประท้วงที่บริเวณมหาวิทยาลัย Amir Kabir ในกรุงเตหะราน เพื่อประท้วงรัฐบาลต่อเหตุการณ์ดังกล่าว [2]

 

1. ทำไมเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำอิหร่านถึงถูกกักตัว

ปัญหาเกิดขึ้น เมื่อเอกอัครราชทูตร็อบ มาแคร์ (Rob Macaire) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำอิหร่านถูกกักตัวจากทางการของอิหร่านเนื่องจากต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมกับการประท้วงดังกล่าวด้วย [3] ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตมาแคร์ถูกปล่อยตัวหลังจากถูกควบคุมตัวประมาณครึ่งชั่วโมง [4] โดยเอกอัครราชทูตฯ ได้ยืนยันว่า เขาไม่ได้เข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงแต่อย่างใด แต่เข้าไปเข้าร่วมกิจกรรมการไว้อาลัยให้กับเหยื่อของเครื่องบินที่ตกเท่านั้น เนื่องจากเหยื่อจำนวนหนึ่งที่เสียชีวิตก็เป็นชาวอังกฤษเช่นกัน และเมื่อเขาได้ยินผู้คนตะโกน เขาก็ได้ออกมาจากบริเวณดังกล่าวประมาณ 5 นาทีหลังจากนั้น [5]

 

2. ประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศในส่วนนี้ มีหลัก ๆ อยู่หนึ่งประเด็น คือ เรื่องของเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูต ซึ่งตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 (Vienna Convention on Diplomatic Relations หรือ VCDR) ได้กำหนดให้เอกสิทธิ์ (privilege) และความคุ้มกัน (immunity) ทางการทูตเอาไว้เพื่อเป็นการประกันการทำหน้าที่ของผู้แทนทางการทูตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่เอกสิทธิ์ หมายถึง สิทธิพิเศษที่รัฐผู้รับ (ประเทศที่ตั้งของสถานทูต) ให้แก่ตัวแทนทางการทูตของรัฐผู้ส่ง (ประเทศผู้เข้าไปตั้งสถานทูต) ซึ่งสิทธิพิเศษดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับถ้อยทีที่ปฏิบัติระหว่างกัน อาจเป็นการให้สิทธิประโยชน์บางประการหรือยกเว้นไม่ให้ต้องปฏิบัติการบางอย่างก็ได้ เช่น สิทธิพิเศษภาษี เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนนี้ จะเน้นในเรื่องของความคุ้มกันเป็นพิเศษ โดยที่ความคุ้มกันทางการทูตนั้น สามารถแยกเป็นหลัก ๆ ได้ 3 ส่วน คือ (1) ความคุ้มกันเกี่ยวกับตัวบุคคล เช่น ความละเมิดมิได้ของผู้แทนทางการทูต (จะอธิบายด้านล่าง) (2) ความคุ้มกันเกี่ยวกับสถานที่ (อธิบายไปแล้วใน EP.1) และ (3) ความคุ้มกันจากเขตอำนาจศาลทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง รวมถึงไม่จำต้องให้การในฐานะเป็นพยาน แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เช่น เป็นเรื่องของการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนตัวของผู้แทนในนามส่วนตัว เป็นต้น ทั้งนี้ ความคุ้มกันทางการทูตจากอำนาจศาลนั้น อาจสละได้โดยการแสดงเจตนาที่ชัดแจ้งของรัฐผู้ส่ง (ข้อ 32 ของ VCDR)

กลับมาพิจารณาที่อนุสัญญา VCDR เป็นการเฉพาะ โดยที่อิหร่านได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐสมาชิกอนุสัญญาฯ แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1965 และสหราชอาณาจักรก็ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐสมาชิกแล้วเช่นกันเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1964 ดังนั้น ทั้งอิหร่าน และสหราชอาณาจักรจึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับนี้ โดยเฉพาะข้อ 29 ในเรื่องความละเมิดไม่ได้ของตัวแทนทางทูตครับ

ข้อ 29 ของ VCDR ระบุไว้ว่า “ตัวบุคคลของตัวแทนทางทูตจะถูกละเมิดมิได้ (inviolable) ตัวแทนทางทูตจะไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในรูปแบบใด รัฐผู้รับจะปฏิบัติต่อตัวแทนทางทูตด้วยความเคารพตามสมควร และจะดำเนินการที่เหมาะสมที่จะป้องกันการประทุษร้ายใด ๆ ต่อตัวบุคคล เสรีภาพ หรือเกียรติของตัวแทนทางทูต” กล่าวโดยสรุปง่าย ๆ คือ ห้ามรัฐผู้รับ (ในกรณีนี้หมายถึง ประเทศอิหร่าน) จับกุมหรือกักขังตัวแทนทางทูต (ในกรณีนี้หมายถึงเอกอัครราชทูตมาแคร์ จากสหราชอาณาจักร) ครับ แต่อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าหลักความละเมิดมิได้ของตัวแทนทางการทูตจะไม่มีข้อเว้น เช่น เป็นกรณีที่ตัวแทนทางทูตก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐผู้รับ หรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐผู้รับ ก็อาจจะมีการร้องขอให้รัฐผู้ส่งเรียกตัวแทนทางทูตกลับ

ตามข้อเท็จจริง เอกอัครราชทูตมาแคร์เข้าร่วมกิจกรรมไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีผู้เสียชีวิตจากสหราชอาณาจักรด้วย และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เขาก็ออกจากบริเวณดังกล่าว [6] ดังนั้น การกักตัวเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำอิหร่านจึงอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ นายโดมินิก ร้าบ (Dominic Raab) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรได้ออกมาแถลงว่า การจับกุมเอกอัครราชทูตฯ โดยไม่มีฐานหรือคำอธิบายนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง (flagrant violation of international law) ซึ่งในขณะนี้ รัฐบาลอิหร่านได้กำลังถึงทางแยกว่าจะเลือกดำเนินการต่อไปด้วยสถานการณ์โดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจและการเมืองเช่นนี้ หรือจะลดระดับความตึงเครียดลงและเข้าสู่กระบวนการทางการทูต [7]

นอกจากนั้น มอร์แกน ออร์เทกัส (Morgan Ortagus) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้กล่าวอีกว่า การจับตัวเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำอิหร่านนั้นขัดต่ออนุสัญญากรุงเวียนนาฯ และพวกเราขอให้รัฐบาลอิหร่านแสดงความขอโทษต่อสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการในการละเมิดสิทธิและการเคารพสิทธิของตัวแทนทางการทูต [8]

ดังนั้น ต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลอิหร่านต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับประเด็นดังกล่าวด้วยอีกหนึ่งประเด็น

#อิหร่าน #สหราชอาณาจักร #เครื่องบินตก #ยูเครน #กักตัว #ร็อบมาแคร์ #ความละเมิดมิได้ของผู้แทนทางทูต #Iran #UnitedKingdom #Iran #Planecrash #Ukraine #detention #RobMacaire #inviolability #ambassador

อ้างอิง

[1] Eliza Mackintosh, Joshua Berlinger, Angela Dewan, Madeline Holcombe and Artemis Moshtaghian, ‘Iran admits to shooting down Ukrainian passenger plane unintentionally’, CNN (11 January 2020) <https://edition.cnn.com/2020/01/10/middleeast/iran-plane-crash-intl-hnk/index.html&gt; accessed 12 January 2020 and Javad Zarif, personal post on twitter, twitter (10 January 2020) <https://twitter.com/JZarif/status/1215847283381755914&gt; accessed 12 January 2020.

[2] Madeline Holcombe, Artemis Moshtaghian and Ray Sanchez, ‘Iranian protesters take to streets after Tehran admits Ukrainian plane was unintentionally shot down’, CNN (11 January 2020) <https://edition.cnn.com/2020/01/11/middleeast/iran-shot-down-ukrainian-plane/index.html&gt; accessed 12 January 2020.

[3] Meghan Genovese, ‘U.K. Says Iran Detained Ambassador as Protests Hit Tehran’, Bloomberg (11 January 2020) <https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-01-11/u-k-says-iran-detained-its-ambassador-as-protests-hit-tehran&gt; accessed 12 January 2020.

[4] Rob Macaire, personal post on twitter, twitter (12 January 2020) <https://twitter.com/HMATehran/status/1216273038045564928&gt; accessed 12 January 2020.

[5] ibid.

[6] ibid.

[7] Dominic Raab, ‘Arrest of Ambassador to Iran: Foreign Secretary statement’ Foreign and Commonwealth Office (11 January 2020), <https://www.gov.uk/government/news/arrest-of-ambassador-to-iran-foreign-secretary-statement&gt; accessed 12 January 2020.

[8] Morgan Ortagus, personal post on twitter, twitter (11 January 2020) <https://twitter.com/statedeptspox/status/1216126889951145984&gt; accessed 12 January 2020.

Pic credit: CNN, inew, News18, Foreign Policy, Business Insider

Leave a comment